เรื่องการพิจารณาพระเครื่องว่าแท้ ปลอม เก๊ อย่างไร เวลาเห็นพระครั้งแรกเราเห็นอะไรก่อน
✷รูปร่างลักษณะ นั่นแหละคือพิมพ์ของพระ
การดูพระในครั้งแรกควรดูที่พิมพ์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าพิมพ์ไม่ถูกก็ไม่ต้องดูต่อ เดี๋ยวจะเขวได้ เนื่องจากพระเครื่องนั้นเกิดขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ก็เหมือนกับสตางค์เหรียญหรือแบงก์นั่นแหละ ถ้าเกิดมาจากแม่พิมพ์อันเดียวกันก็จะมีรายละเอียดเหมือนกันหมด ถ้าผิดไม่ถูกต้องหรือคล้ายๆ นั้นก็คือไม่ใช่
✷ส่วนเรื่องเนื้อก็มีความสำคัญ ก็ดูเป็นอันดับต่อมาหลังจากพิจารณาว่าพิมพ์ถูกต้องแล้ว และธรรมชาติความเก่าก็สำคัญ ทุกอย่างมีความสำคัญทั้งหมด
การเริ่มศึกษาพระเครื่อง ตั้งแต่ตอนแรกๆ ต้องศึกษาหาดูจากพระแท้ๆ และจดจำไว้ (เมื่อไม่มีพระแท้ทำอย่างไร ต้องหาจากผู้ที่สะสมที่มีเมตตายินยอมให้เราได้ดูหรือเห็น หรือจากหนังสือเกี่ยวกับพระเครื่องที่มีภาพและการอธิบายเอาไว้อย่างชัดเจน)
เริ่มต้นด้วยการเริ่มจำ
รูปร่างลักษณะคร่าวๆ
จำพิมพ์ ให้แบ่งองค์พระออกเป็นสองส่วนคือ
✷แบ่งจากบนลงล่าง เป็นสองส่วนซ้ายขวา แล้วเห็นอะไรบ้างที่ไม่เหมือนกัน สังเกตดูว่าทั้งสองด้านไม่เหมือนกันตั้งแต่ใบหน้าพระ หู องค์พระ รายละเอียดลวดลายต่างๆ นั่นแหละคือรายละเอียดของแม่พิมพ์ให้ไล่ดูตั้งแต่ด้านบนจนถึงด้านล่างโดยละเอียด
การศึกษาเรื่องพระเครื่องนั้นไม่มีสำนักการศึกษาที่ไหนสอนให้ดูพระแท้พระปลอม การศึกษาให้รู้ได้ก็ต้องสนใจหมั่นศึกษาเอาเอง โดยสอบถามผู้ที่มีชื่อเสียงที่เก่งๆ ให้ช่วยแนะนำให้ ในสมัยก่อนเรื่องรูปพระนั้นไม่มี ผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็จะให้ดูพระแท้ๆ แต่ก็ต้องทำความรู้จักจนคุ้นเคยกันก่อนแล้วท่านก็จะแนะนำให้โดยจะให้เราสังเกตด้วยตัวเองแล้วเมื่อมีคำถามท่านจึงจะบอกให้ จะไม่มาบอกว่าให้ดูตรงนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในตอนแรกๆ ก็คงไม่เข้าใจ เห็นเขาดูพลิกไปพลิกมาก็รู้แล้วว่าใช่-ไม่ใช่ ก็นึกว่าจะมีโค้ดลับดูเดี๋ยวเดียวก็รู้ว่าใช่ ไม่ใช่ ก็อยากจะให้ผู้ใหญ่ท่านบอกความลับนั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด การที่ท่านไม่บอกอะไรในตอนแรกนั้นก็เพื่อที่จะให้เราค้นหาเอง และเห็นเองโดยเมื่อเราพบและนำมาถาม ท่านก็จะชี้แนะให้ ทำให้เราจดจำได้อย่างแม่นยำ และเพื่อดูว่าเราสนใจแค่ไหน ถ้ามีปัญหาที่ค้นมาได้มากจุดก็แสดงว่าเรามีความพยายามในการค้นคว้าจริงๆ ท่านก็จะสอนให้และแนะนำเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องพิมพ์ของพระ เนื้อของพระ ธรรมชาติความเก่าของพระ และส่วนมากผู้ที่รู้จริงในเรื่องพระเครื่อง ท่านจะสอนเราจริงๆ ท่านจะสอนทีละอย่าง เช่น สอนเรื่องพระคง ลำพูน ท่านก็จะสอนให้อย่างเดียวจนกว่าจะพอดูเป็น จึงจะสอนในพระอื่นๆ ต่อไป
โดยส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่องรุ่นใหญ่ๆ ท่านจะสอนเรื่องพิมพ์ก่อนเหมือนๆ กัน ต่อมาก็ศึกษาเรื่องวัสดุที่นำมาสร้างพระก็คือเนื้อของพระนั่นเองครับ เมื่อรู้ว่าเขาเอาวัสดุอะไรมาสร้างพระนั้นๆ ก็มาดูถึงประวัติความเป็นมาเพื่อที่จะได้รู้ว่ามีอายุของวัสดุนั้นว่าสร้างมากี่ปี เพื่อจะได้รู้ถึงความเสื่อมสภาพของ
วัสดุนั้นๆ ตามธรรมชาติ ศึกษาถึงกรรมวิธีการสร้างของพระนั้นๆ แต่ละยุคแต่ละสมัย ถ้าศึกษาถึงขั้นนี้ในแต่ละพระก็จะสามารถรู้จริงได้
ในบางครั้งที่เราเห็นเขาดูประเดี๋ยวเดียวก็รู้ว่าใช่-ไม่ใช่นั้น เกิดจากความชำนาญที่เกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญ และเกิดการประเมินผลในสมองออกมาเป็นคำตอบว่าใช่-ไม่ใช่ บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะนึกว่ายากมากๆ และต้องใช้เวลาในการศึกษามาก ผมกล้าที่จะบอกว่า ถ้าเราศึกษาอย่างถูกต้องเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ยากนัก และใช้เวลาในการศึกษาแต่ละอย่างไม่มากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น